วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

พระเจ้าตะเบ็งชะเวงตี้เป็นกษัตริย์พม่าองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ตองอู ทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ เพราะตลอดรัชกาลพระองค์ทำสงครามเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อเจริญพรรษาขึ้น ทรงกระทำพิธีเจาะพระกรรณ (เจาะหู) อันเป็นราชประเพณีของพม่าเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ของไทย โดยเลือกที่จะทำพิธีที่พระเจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) กลางเมืองหงสาวดีของมอญ โดยมีทหารคุ้มกันแค่ 500 นาย โดยไม่ทรงหวาดหวั่นทหารมอญนับหมื่นที่ล้อมอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเมื่อทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทำการสงครามแผ่ขยายอาณาจักรตองอูไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ยะไข่ พะสิม หงสาวดี แปร เมาะตะมะ และอยุธยา เป็นต้น โดยเฉพาะการได้ชัยชนะเหนือหงสาวดี โดยนับว่าเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่สามารถเอาชนะหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญ อันเป็นคู่ปรับสำคัญของชาวพม่าในอดีต และได้ย้ายเมืองหลวงจากตองอูลงมาที่หงสาวดี  


สงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวงตี้ สงครามพม่า–ไทยครั้งแรกซึ่งจะดำเนินมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สงครามนี้ขึ้นชื่อว่านำมาซึ่งการสงครามสมัยใหม่ตอนต้นในภูมิภาค และขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์ไทยว่าสมเด็จพระสุริโยทัยสมเด็จพระราชินีสวรรคตในยุทธหัตถีเหตุแห่งสงครามมีว่าพม่าพยายามขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกหลังมีความวุ่นวายทางการเมืองในอยุธยา ตลอดจนพยายามหยุดการรุกล้ำเข้าชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนของอยุธยา พม่าว่า สงครามนี้เริ่มในเดือนมกราคม 2090 เมื่อกำลังของอยุธยาพิชิตเมืองชายแดนทวาย ในปีเดียวกัน กองทัพพม่านำโดยแม่ทัพเจ้าลครอิน ยึดฝั่งตะนาวศรีตอนบนลงไปถึงทวายคืนได้ ในปีถัดมา คือ ตุลาคม 2091 กองทัพพม่าสามกองโดยมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชบุเรงนองเป็นผู้นำบุกครองอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพพม่าเจาะลึกถึงพระนครอยุธยาแต่ไม่อาจหักเอานครที่มีป้อมปราการหนาแน่นนั้นได้ หนึ่งเดือนหลังเริ่มล้อม การตีโต้ตอบของอยุธยาแก้การล้อมได้ และขับกำลังฝ่ายบุกครอง แต่พม่าเจรจาการถอยทัพอย่างปลอดภัยโดยแลกกับการคืนองค์เจ้านายสำคัญสองพระองค์ คือ พระราเมศวร พระรัชทายาท และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งพิษณุโลก ที่ถูกจับเป็นเชลย 
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงวางแผนการบุกครองอาณาจักรอยุธยา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ทรงรวบรวมกองทัพอีก 12,000 นาย ซึ่งมีทหารรับจ้างโปรตุเกสรวมอยู่ด้วยประมาณ 400 นาย กำลังบุกครองใช้อาวุธตามแบบในสมัยนั้น ได้แก่ ดาบ ธนูและหอก ส่วนทหารยอดฝีมือจะถือปืนคาบชุดหรือปืนคาบศิลา ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำอาวุธสมัยใหม่ตอนต้นเหล่านี้มายังราชอาณาจักรทั้งสองไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เองและประชุมพลที่มะตะบัน (เมาะตะมะ) กำลังบุกครองมีการจัดระเบียบเป็นสามกองทัพหลัก ได้แก่ ทัพหน้ามีบุเรงนองเป็นผู้นำ ทัพหลวงมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เป็นผู้นำ และทัพหลังมีพระตะโดธรรมราชาและเมงจีสเวเป็นผู้นำ แต่ละกองมีกำลัง 4,000 นายเส้นทางบุกครองคือผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ไปกาญจนบุรี แล้วไปกรุงศรีอยุธยานที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2091 กองทัพพม่าสามกองออกจากมะตะบันเพื่อเริ่มการบุกครอง กองทัพเลาะแม่น้ำอัตทะรันมุ่งด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามแม่น้ำแควน้อยถึงเมืองไทรโยค แล้วยกตัดแผ่นดินมุ่งแม่น้ำแควใหญ่ จากที่นั่น กองทัพล่องเรือมุ่งเมืองกาญจนบุรี พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินโดยมีข้าราชบริพารและช้างจำนวนมหาศาล ช้างเหล่านี้หลายเชือกบรรทุกปืนคาบศิลาและปืนใหญ่บรอนซ์ซึ่งเก็บรักษาใกล้องค์พระมหากษัตริย์ ช้างหลวงถูกขนแพข้ามแม่น้ำ ส่วนช้างศึกธรรมดาเดินทวนน้ำไปบริเวณจุดข้าม พระองค์ทรงมีบุเรงนอง มกุฎราชกุมาร และนันทบุเรง พระโอรสวัย 13 พรรษาของบุเรงนอง และขุนนางที่แต่งกายหรูหราหลายคนตามเสด็จ คนงานหลายร้อยคนเดินล่วงหน้าข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อตั้งค่ายไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการลงสีและเลื่อนสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ และมีการรื้อและตั้งค่ายที่ตำแหน่งใหม่ทุกวัน
การบุกครองทีแรกเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อย เพราะกองทัพพม่าใหญ่เกินด่านยามเล็ก ๆ ตามพรมแดน เมื่อทรงทราบข่าวการบุกครองของพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงระดมพลราชอาณาจักรของพระองค์ แล้วประชุมทัพที่เมืองสุพรรณบุรีที่อยู่ทิศตะวันตกติดกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และทัพของพระองค์มาถึงเมืองกาญจนบุรีที่มีกำแพงล้อม ก็พบว่าเมืองถูกทิ้งร้างประมาณหนึ่งเดือนหลังบุกครอง กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็เคลื่อนทัพต่อไปทางทิศตะวันออก ยึดบ้านทวน กะพังตรุและจรเข้สามพัน พม่ายังรุกต่อและยึดเมืองโบราณอู่ทอง ตลอดจนหมู่บ้านดอนระฆังและหนองสาหร่ายและประชิดสุพรรณบุรี เมื่อพม่าโจมตีเมือง ฝ่ายอยุธยาที่ป้องกันต้านทานไว้ไม่อยู่และถอยกลับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงสั่งให้กองทัพยกไปตะวันออกเฉียงใต้ตามสองคลอง และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับพงแพง จากที่นั้นพระองค์ทรงตั้งค่ายเหนือพระนครกรุงศรีอยุธยาโดยตรงในทุ่งที่เรียก ทุ่งลุมพลี
ส่วนฝ่ายอยุธยามีอุบายตั้งรับภายในกำแพงพระนคร โดยกวาดต้อนพลเมืองที่อยู่บริเวณนอกเมืองให้เข้ามาอยู่ในพระนครให้ได้มากที่สุด และจัดทหารขึ้นประจำป้อมรอบกำแพง ซึ่งบนกำแพงมีป้อม 16 ป้อม และยังส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกไปตั้งค่ายรอบเมืองอีก 4 ค่าย
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดสินพระทัยยกทัพออกนอกพระนครเข้าประจัญกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และเพื่อลองกำลังของพม่า คราวนี้ พระองค์ทรงพระคชาธารส่วนพระองค์ โดยมีพระอัครมเหสี สมเด็จพระสุริโยทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาอ่อนพระองค์หนึ่ง พระบรมดิลก ตามเสด็จด้วย และทั้งสองทรงช้างศึกเชือกเล็กกว่า สตรีทั้งสองพระนางทรงเครื่องเป็นทหารอย่างชาย  โดยสมเด็จพระราชินีแต่งเครื่องแบบอุปราช นอกจากนี้ พระราเมศวร พระอุปราชและทายาทผู้มีสิทธิ์โดยตรง และพระมหินทร ราชโอรสอีกพระองค์ ก็ตามเสด็จด้วย
เกิดการยุทธ์ตามมาแต่สองบันทึกเล่าต่างกัน พงศาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าจัดกองทัพซึ่งมีพระตะโดธรรมราชา อุปราชปยี (แปร) เป็นตัวล่อ และสองกองทัพคืบเข้าทางปีกเพื่อล้อมกองทัพอยุธยาที่ล้ำเกิน ซึ่งเป็นไปตามแผน ทหารทัพหน้าของอยุธยาไล่กองทัพของพระตะโดธรรมราชา ทำให้กองทัพของบุเรงนองที่คอยอยู่ทางปีกซ้ายล้อมทัพอยุธยาซึ่งต่อมาถูกกวาดสิ้น กองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ที่อยู่ปีกขวาขับทัพอยุธยาที่เหลือกลับเข้าพระนคร
กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกและใต้ และแม่น้ำป่าสักทางตะวันออก ถือว่าเป็นคูเมืองธรรมชาติที่มั่นคง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากเมื่อน้ำเชี่ยวกรากไหลปริมาณมากจากทิศเหนือตามแม่น้ำลพบุรี น้ำท่วมนี้จะเริ่มประมาณเดือนรกฎาคมและสิ้นสุดลงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีเวลาห้าเดือนหักเอากรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นพื้นที่ตั้งค่ายและเส้นทางส่งเสบียงจะถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำท่วมดังกล่าวจะทำให้กองทัพของพระองค์ติดกับ[30] พื้นที่ลุ่มเป็นหนองน้ำโดยรอบกรุงศรีอยุธยามีการขุดคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เรือปืนที่ติดปืนใหญ่สามารถยิงขับไล่ความพยายามใด ๆ ที่จะโจมตีพระนคร นอกจากนี้ ฝ่ายพม่านำเพียงปืนใหญ่ขนาดเล็กติดมา ขณะที่กรุงศรีอยุธยามีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนกำแพงนคร
พม่าล้อมนคร แต่ไม่สามารถข้ามแม่น้ำหรือเจาะกำแพงนครด้วยการยิงปืนใหญ่ ทำให้ต้องไปตั้งค่ายโดยรอบพระนครแทน ในขณะที่ทางน้ำซึ่งเชื่อมถึงกันจากเหนือถึงใต้ ทำให้การหากำลังบำรุงฝ่ายป้องกันในนครค่อนข้างง่าย ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส 50 นาย โดยมีกาลิโอเต เปเรราเป็นนายกอง ป้องกันส่วนที่อ่อนแอที่สุดของกำแพงนครให้พระมหากษัตริย์อยุธยา เนื่องจากฝ่ายพม่าไม่สามารถหักนครได้ตามแบบธรรมดา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงเสนอติดสินบนทหารรับจ้างเหล่านี้ แต่ทหารรับจ้างโปรตุเกสดูถูกและปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เมื่อแม่ทัพอยุธยาทราบข่าว ก็เปิดประตูนครท้าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้นำเงินมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถขับพม่าออกไปได้ จึงทรงส่งสารถึงพระมหาธรรมราชาที่พิษณุโลก มีพระบรมราชโองการให้ยกทัพลงใต้มาช่วย และหากเป็นไปได้ให้ประจัญบานข้าศึกในการรบด้วย พระมหาธรรมราชาระดมพลอย่างรวดเร็วและด้วยความช่วยเหลือของเจ้าเมืองสวรรคโลก กองทัพพิษณุโลกขนาดใหญ่เคลื่อนลงใต้เพื่อโจมตีกองทัพพม่าทางด้านหลัง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงทราบข่าว และด้วยการกราบบังคมทูลแนะนำของบุเรงนอง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตัดสินพระทัยถอนทัพ ละทิ้งความตั้งใจที่จะหักเอากรุงศรีอยุธยา การตัดสินพระทัยของพระองค์ยังเกี่ยวเนื่องกับข่าวจากพม่าว่าพวกมอญซึ่งไม่เคยถูกราชวงศ์ตองอูปราบปรามทั้งหมด ก่อกบฏระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับ ปัจจัยอื่นรวมไปถึงการขาดแคลนเสบียงและการเจ็บป่วยในกองทัพ ซึ่งมิได้เตรียมการรับการล้อมระยะยาวและภายในหนึ่งเดือนหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้นจน พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถอนทัพ
หลังจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ก็เสวยแต่น้ำจัณฑ์และละทิ้งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจทำให้พระมหาอุปราชาบุเรงนองจำเป็นต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน ใน พ.ศ. 2092 เมื่อบุเรงนองออกจากเมืองหลวงเพื่อปราบปรามกบฏมอญทางใต้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยทหารรับใช้คนสนิทชาวมอญชื่อสมิงสอทุต ด้วยการตัดพระศอ ขณะที่เสด็จไปคล้องช้าง เป็นเหตุให้ปลอดทหารผู้ภักดีคอยอารักขา หลังจากสิ้นสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ได้เพียง 3 เดือน ตามพงศาวดารเล่าว่า พระองค์เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเสียสติและได้มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ แข็งข้อขึ้น ซึ่งทำให้บุเรงนองต้องใช้เวลากว่าห้าปีในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น จนเสร็จสิ้นเมื่ออังวะถูกยึดใน พ.ศ. 2097

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น